การจัดสิ่งถ่าย
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การใช้อุปกรณ์แบบการถ่ายทำที่ถูกต้อง](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjNBpafH0g28VjkZh0lYUo7WUImHMYLY48S5FmXcOzKCNnOhOPUwlP_q9Xj345JDg9LD-7NvK95q_DwufUySXspXMM8cv-bHn31D-UfdlUSYFuh_xygb-s_LrRt2t8swU22ioLrBdO6VqU/s1600/8276_20110418p1.jpg)
ในการถ่ายภาพนั้น ผู้ถ่ายภาพหรือช่างภาพควรจะสำรวจดูสิ่งที่ถ่าย (Subject) ให้มีความถูกต้อง น่าสนใจ ชวนมอง จะด้วยความงาม ความเด่นเป็นสง่า ท่าทาง เหมาะสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม พื้นฐาน(Foreground) พื้นหลัง (Background) ความเป็นธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภาพบุคคล สัตว์ ดอกไม้ ต้นไม้ หุ่นนิ่ง อาคารสถานที่ ภายนอกและภายในอาคาร ฉาก วิวทิวทัศน์ ตลอดจนภาพเหตุการณ์ต่างๆ ถ้าสามารถจัดได้ก็ควรจะจัดให้ดูดีก่อนที่จะถ่ายทำซึ่งโดยภาพรวมแล้ว จะพิจารณาถึง
1. ทำเลที่ตั้ง หรือสถานที่ถ่ายทำ (Location)
โดยปกติแล้วสถานที่ถ่ายทำ มักจะถูกเลือกขึ้นมาว่า สมควรถ่ายทำ ณ ตำแหน่งใด เวลาไหนควรถ่ายทำอย่างไร ทิศทางภาพจะอยู่อย่างไร ทำเลที่ตั้งควรเลือกสถานที่อย่าให้มีความหวาดเสียวมีอันตราย หรือลำบากมากเกินความจำเป็นในการถ่ายทำ
ภาพพระอาทิตย์ตกสะท้อนเงาน้ำ
2. พิจารณาแสงสว่าง (Lighting)
ในการถ่ายภาพหรือเขียนภาพ แสงเงาจะมีส่วนทำให้ภาพมีความน่าสนใจได้เป็นอย่างดี เพราะแสงเงาทำให้ภาพมีความหนาบางเกิดมิติ มีความลึก (Perspective) บ่งบอกรายละเอียด (Detail) และแสดงถึงลักษณะพื้นผิว(Texture) ของวัตถุได้ แสงสว่างที่ใช้ในการถ่ายภาพ อาจจะอาศัยแสงจากดวงอาทิตย์ที่เป็นแสงธรรมชาติ ซึ่งภาษาที่ใช้ในการถ่ายภาพเรียกเป็น เดย์ไลท์ (Daylight) หรือเป็นแสงจากดคมไฟ ที่เราจัดขึ้นในห้องถ่ายทำ (Studio) ไฟตามอาหาร ตามท้องถนน หรือแสงไฟจากแฟลช (Flash light) แสงเงาจากแหล่งต่างๆ ให้ความเข้มในการส่องสว่างแตกต่างกัน จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันได้ชัดเจน แม้แต่ช่วงระยะเวลาที่แตกต่างความรู้สึกที่ได้จากแสงสว่างก็แตกต่างกัน
ในการถ่ายภาพเราจะพิจารณาดูแสงสว่างว่าเหมาะสมกับลักษณะของภาพที่เราต้องการหรือไม่ จุดมุ่งหมายของการถ่ายภาพนี้คืออะไร เมื่อเราเข้าใจสถานที่ หรือทำเลที่ตั้งในการถ่ายทำ พิจารณาเลือกแสงให้เหมาะสมกับเวลาที่เราต้องการ หรือมีอุปกรณ์อื่นๆช่วย เช่น แผ่นแสงสะท้อน (Reflector) หรือ แฟลชร่ม จะทำให้ภาพมีความนุ่มนวล
ภาพแสดงแสงตกกระทบวัตถุ
3. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศ
อันที่จริงในการถ่ายภาพ ถ้าเราได้กำหนดสถานที่ เลือกทำเลหรือตำแหน่ง ประกอบการกำหนดช่วงเวลา ที่แสง – เงา จะพอดีแล้ว ก็สมควรจะถ่ายทำได้ แต่ในบางครั้งสภาพแวดล้อมและบรรยากาศอาจจะไม่เอื้ออำนวยก็เป็นได้ เพราะสภาพแวดล้อมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศรอบข้าง อาจจะไม่เหมาะสมที่ถ่ายทำ
สภาพแวดล้อมและบรรยากาศจะเป็นสิ่งที่เสริมแต่งให้ภาพมีความสมจริง เหมาะสมกลมกลืนกับเรื่องราวที่นำเสนอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเจตนาหรือจุดมุ่งหมายของการถ่ายทำ บางครั้งความสงบ ความเรียบง่ายก็เป็นบรรยากาศอีกมุมหนึ่ง แต่บางครั้งความสับสนวุ่นวาย ความรกรุงรังก็เป็นความสวยงามอีกมุมมองหนึ่ง ขึ้นอยุ่กับว่า ช่างภาพหรือผู้ถ่ายทำจะมีมุมมอง มุมกล้อง และจัดองค์ประกอบภาพได้ดีแค่ไหน หากว่าสามารถบันทึกความแปลก น่าทึ่งมีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมาย เข้าลักษณะของการจัดองค์ประกอบที่ดี ภาพที่ได้ย่อมจะมีคุณค่า
4. การจัดหรือการตกแต่งเพิ่มเติม
คำพังเพยที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” นับได้ว่าเป็นรูปธรรมจริงๆเพราะการจัดและตกแต่งสำหรับการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ยิ่งถ้าเป็นโทรทัศน์การถ่ายทำบทละคร หรือการแสดงต่างๆ จะมีการเสริมแต่ง (Make-up) ตัวละครหรือผู้แสดงเพื่อให้มีสีสันที่เด่นออกมาจากพื้นหลัง การเกิดภาพของโทรทัศน์ เป็นเรื่องของแสง หากแสงมากเกินไป (Over-exposure) ภาพที่ได้ก็จะขาว เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องมีการเสริมแต่ง แต่งหน้า เขียนตา ทาปาก แม้กระทั่งตัวละครที่เป็นผู้ชายก็ต้องแต่งหน้าเช่นกัน ภาพออกมาก็จะดูดี
การถ่ายทำภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว หากเป็นภาพวิวทิวทัศน์ เป็นธรรมชาติอยู่ในตัวเองไม่ต้องจัดหรือตกแต่งเพิ่มเติมก็ได้ เพียงแต่หามุมมอง หามุมกล้องเลือกที่จะถ่ายทำตามที่ช่างกล้องพอใจ แต่ในบางครั้งก็มีส่วนประกอบบางอย่างมาทำให้ภาพที่จะถ่ายทำนั้นขาดความน่าสนใจหรือเกิดความรู้สึกที่ไม่น่าดู จะมีการจัดหรือตกแต่งเพิ่มเติม
การตกแต่งหรือเสริมแต่ง เป็นความละเอียดอ่อนของช่างภาพแต่ละคน การจะมีความคิดสร้างสรรค์มีจินตนาการหรือมีอารมณ์ในเชิงศิลปะ ย่อมจะสร้างหรือถ่ายทำภาพออกมาได้แตกต่างกัน
จะเห็นได้ว่าลีลา และศิลปะในการถ่ายทำ การเลือกหาความน่าสนใจจากรูปภาพที่จะได้มีความหลากหลาย และกว้างไกลมาก นอกจากความเป็นช่างภาพที่มากด้วยประสบการณ์เป็นคน ช่างสังเกต เป็นนักพัฒนา มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี แล้วมีความมีศิลปะอยู่ในตัวเองของช่างภาพแต่ละคนจะช่วยสร้างให้ผลงานเป็นที่พอใจมากยิ่งขึ้น
ภาพการใช้พื้นหน้า (Foreground)
5. การใช้อุปกรณ์
ในการถ่ายภาพให้บรรลุผลตามที่ได้คาดหวังหรือวางจุดมุ่งหมายไว้นั้นนอกจากจะพิจารณาทำเลที่ตั้ง คำนึงถึงแสงเงา ประกอบกับการจัดตกแต่งให้เหมาะสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและได้บรรยากาศที่ดีแล้ว กระบวนการในการปฏิบัติงาน ก็ควรจะมีความสะดวก มีความคล่องตัวสูง ด้วยเหตุนี้ช่างภาพก็ควรจะต้องมีการตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่จะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกและจะช่วยทำให้การถ่ายภาพนั้นบังเกิดผลดี วัสดุอุปกรณ์ที่จะช่วยได้ตรงตามความต้องการมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพที่จะถ่ายทำ เช่น
การถ่ายภาพบุคคล
อาจจะเตรียมแผ่นสะท้อนแสง(Reflector) เตรียมฉากสำหรับเกลี่ยแสงเตรียมโคมไฟเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งลำพังนายแบบหรือนางแบบที่จะถ่ายทำ ก็จะต้องจัดเตรียมเครื่องแต่งตัว แต่หน้า ทำผม และเสื้อผ้า อาจจะเตรียมไปหลายๆชุด
การถ่ายภาพบุคคล ไม่ว่าจะเป็นภาพเด็ก ภาพวัยรุ่น ภาพคนชรา ในอากัปกริยาต่างๆศูนย์สนใจของภาพ ก็จะขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการถ่ายทำ ถ้าหากลำพังการพิจารณาวันที่แตกต่างกันภาพก็จะแสดงออกหรือนำเสนอในแง่ของความแตกต่างที่เป็นลักษณะเด่น
ตัวอย่างการถ่ายภาพบุคคล
การถ่ายภาพด้วยการใช้เลนส์เทเลโฟโต้
การถ่ายภาพระยะไกล หรือการถ่ายที่ใช้เลนส์เทเล (Tele-lens) จะปรับความชัดได้ลำบากมากภาพมีโอกาสไหว เพราะช่วงความชัดของเลนส์เทเลมีน้อยมาก ทางออกที่ดีหรือช่างภาพนิยมกันก็คือใช้ขาตั้งกล้องช่วย (Tripod) ภาพที่ได้ก็จะมีความนิ่ง มีความคมชัดดีขึ้น
การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือเพื่อผลพิเศษของภาพ
การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ อาจจะมีช่วงเวลาให้เราเลือกถ่ายได้ตามที่ต้องการ อาจเป็นช่วงตอนเช้ามีหมอกปกคลุม หรือพระอาทิตย์กำลังขึ้นมาจากยอดเขา การถ่ายสิ่งก่อสร้าง ให้เห็นความเข้มของแสงที่ตัดกันเด่นชัด ก็ควรถ่ายตอนที่แสงจ้า เช่น ตอนบ่าย ภาพที่ให้บรรยากาศของวิวทิวทัศน์ที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า
การถ่ายทำภาพเหล่านี้ บางครั้งช่างภาพอาจเสริมแต่งด้วยการใช้แว่นกรองแสงหรือ
ฟิลเตอร์ (Filter) เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดผลพิเศษ เช่น พื้นภาพเปลี่ยนสีออกไปจากเดิม ปรับเปลี่ยนหรือแก้การสะท้อนแสงของโลหะ หรือใช้เกลี่ยให้ภาพเกิดสีสันที่นิ่มนวลขึ้น
การถ่ายทำในตอนกลางคืน
การถ่ายภาพในตอนกลางคืน อาจจะเป็นการถ่ายภาพกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเลี้ยงฉลองงานแต่งงาน งานเลี้ยงสรรสรรค์ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นต้องใช้แฟลช (Flash light) ช่วย ปัจจุบันนี้มักเป็นอิเล็กทรอนิกส์ แฟลช เพราะจะมีความสะดวกและทำให้คุณภาพของสีแสงเป็นธรรมชาติการใช้แฟลชหรือบางคนเรียกว่าไฟแวบ ช่วยในการถ่ายภาพ นอกจากจะใช้ตอนกลางคืนแล้วบางครั้งสามารถมาใช้ลบเงา ในกรณีถ่ายภาพบุคคลในตอนกลางวันได้อีกด้วย อุปกรณที่จำเป็นมากก็คือขาตั้งกล้อง(Tripod)
เพราะภาพลักษณะนี้ใช้เวลาถ่ายทำนานครั้งละหลายๆนาที ไม่มีใครจะถือกล้องถ่ายทำได้
จะเห็นได้ว่าการใช้อุปกรณ์ประกอบในการถ่ายภาพมีความจำเป็นมาก ช่างภาพควรจะรู้จักเลือกและใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมตามลักษณะของภาพที่ต้องการถ่ายทำ ช่างภาพที่มีความชำนาญหรือมีประสบการณ์มานาน จะมีอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย มีการเตรียมการและเลือกใช้อุปกรณ์ได้ดีด้วยเหตุนี้คุณภาพที่ได้หรือผลงานที่ออกมาจึงมีความหมาย มีความสวยงาม น่าประทับใจทำให้ภาพนั้นๆมีคุณค่ายิ่งขึ้น
การถ่ายภาพกลางคืน (Night Shot)
อ้างอิง : http://www.edu.nu.ac.th
![]() |